Column banner

รางวัลแทนคำขอบคุณจากสาธารณรัฐประชาชนจีนสู่มิตรนานาชาติ

 

     เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “มิตรนานาชาติสิบอันดับแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน” ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง โดยนาย เจีย ชิ่ง หลิน (Mr Jia Qinglin) ประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน (Chairman of the National Committee of the Chinese People’s Political Consultative Conference) เป็นผู้ทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลเหรียญทองคำฝังหยก  ต่อจากนั้น นายหวัง ไท่หัว (Mr Wang Taihua) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยุ ภาพยนตร์ โทรทัศน์แห่งประเทศจีน (Minister of the State Administration of Radio, Film and Television) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายใบประกาศเกียรติคุณแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับคะแนน ๒,๒๔๗,๗๐๗ คะแนนเป็นลำดับที่ ๙ จากการลงคะแนนดังกล่าว โดยทรงได้รับการขนานนามว่า ทรงเป็น “เจ้าหญิงแห่งประเทศไทยผู้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประเทศจีนและประเทศไทย” (Princess of Thailand who promoted the cultural exchange and friendly ties between China and her country)

     สำหรับผู้ได้รับคะแนนสูงสุด ๓ ลำดับแรก ลำดับที่ ๑ ได้แก่ นายแพทย์นอร์มัน เบธูน (Mr Norman Bethune, M.D.) แพทย์ชาวแคนาดาผู้ล่วงลับจากการอุทิศตนเพื่อช่วยชีวิตทหารชาวจีนในสมรภูมิการต่อต้านญี่ปุ่นในยุค ๑๙๓๐ (ได้รับคะแนนเสียง ๔,๖๙๔,๔๘๔ คะแนน) ลำดับที่ ๒ คือ นายจอห์น ราเบ (Mr John Rabe) ชาวเยอรมันที่ได้ช่วยชาวจีน ๒๕๐,๐๐๐ คน จากสมรภูมิการสู้รบที่เมืองนานกิง (ได้รับคะแนนเสียง ๔,๐๙๗,๗๘๗ คะแนน) และลำดับที่ ๓ ได้แก่ นายฮวน อันโตนิโอ ซามารันช์ (Mr Juan Antonio Samaranch) ประธานกิตติมศักดิ์ตลอดชีพของคณะกรรมการโอลิมปิกระหว่างประเทศ (IOC) ผู้ที่ให้การสนับสนุนจนประเทศจีนได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี ๒๕๕๑ (ได้รับคะแนนเสียง ๓,๗๓๖,๙๙๒ คะแนน)

     กิจกรรมการลงคะแนนทางอินเตอร์เน็ต  "Chinese Connection - Top Ten International Friends of China" นี้ จัดโดย ๓ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน ได้แก่ สถานีวิทยุระหว่างประเทศของจีน (China Radio International) สมาคมมิตรภาพจีนกับต่างประเทศ (the Chinese People’s Association for Friendship with Foreign Countries) และสำนักงานกิจการผู้เชี่ยวชาญการต่างประเทศ (The State Administration of Foreign Experts Affairs) จัดขึ้นในโอกาสครบ ๖๐ ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวจีนลงคะแนนทางอินเตอร์เน็ต เพื่อคัดเลือก "เพื่อนของชาวจีนในรอบ ๑๐๐ ปี" ระยะเวลาการลงคะแนน ตั้งแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม ถึงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๒ มีประชาชนชาวจีนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่มีคุณสมบัติสามารถลงคะแนนเสียงได้ ๕๖ ล้านคะแนนเสียง นับเป็นกิจกรรมที่ประเทศจีนจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การสถาปนาประเทศในพุทธศักราช ๒๔๙๒

     ก่อนหน้าพิธีมอบรางวัล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภาคภาษาไทยของสถานีวิทยุ CRI ณ สำนักงานใหญ่ สถานีวิทยุระหว่างประเทศของจีน  โอกาสนี้ ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้สื่อข่าวของสถานี CRI กราบบังคมทูลสัมภาษณ์ พระราชดำรัสตอนหนึ่ง มีใจความว่า ทรงรู้สึกเป็นเกียรติมากที่เป็นเรื่องของประชาชนชาวจีนโหวตให้ มิใช่เรื่องของรัฐบาล คนอื่นๆ ที่ได้รับโหวตก็มีชื่อเสียงกว่ามาก ทรงประทับใจที่นักท่องเน็ตชาวจีนรู้จักท่านเหล่านั้นที่บางท่านก็ล่วงลับไปแล้ว บางท่านมีอายุ ๗๐-๘๐ ปีแล้ว  (ทรงหมายถึง ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงในลำดับต้นๆ) แสดงว่าคนจีนสอนลูกสอนหลานดี ให้รู้จักจดจำเรื่องของบรรพบุรุษ ความเป็นมาของประเทศชาติ

     ในพิธีมอบรางวัล ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง นายเจี่ย ชิ่งหลิน ประธานสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีนเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล และมอบรางวัลให้แก่ผู้ได้รับรางวัลที่มาร่วมงาน และนายหลิว เยี่ยน กั๋ว (Mr Liu Yanguo) รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการผู้เชี่ยวชาญการต่างประเทศ (Deputy General Director of the State Administration of Foreign Experts Affairs) ได้เป็นตัวแทนเจ้าภาพผู้จัดงานคือรัฐบาลจีน กล่าวแสดงความขอบคุณในนามประชาชนชาวจีนต่อมิตรนานาชาติที่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศจีนทุกท่านด้วยมิตรภาพอันดีและความจริงใจ จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสตอบในนามของผู้ได้รับรางวัลทั้ง ๑๐ คน ดังนี้

      “ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนผู้ได้รับรางวัล  ‘มิตรนานาชาติสิบอันดับแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน’ ขอแสดงความขอบใจต่อสถานีวิทยุ China Radio International สมาคมมิตรภาพจีนกับต่างประเทศ และสำนักงานกิจการผู้เชี่ยวชาญการต่างประเทศ ที่พิจารณามอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ให้แก่พวกเราทั้งหลาย อีกทั้งประชาชนชาวจีนที่ออกเสียงให้คะแนน ทำให้เราทุกคนได้รับรางวัลครั้งนี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวแสดงความขอบใจในนามของผู้ได้รับรางวัลท่านอื่น ๆ ที่มิได้อยู่ในมหาสมาคมแห่งนี้ในโอกาสนี้ด้วย ส่วนผู้ได้รับรางวัลที่ล่วงลับไปแล้ว หากทราบได้โดยญาณวิถีว่าประชาชนชาวจีนยังรำลึกถึงอยู่เสมอ ก็คงจะเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกปลาบปลื้มปีติเช่นกัน

     “คำว่า ‘มิตร’ นั้น เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้งและงดงาม มิตรที่แท้ หรือ กัลยาณมิตร มีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งมีค่าใด ๆ ทั้งปวง ด้วยเหตุที่มิตรแท้คือผู้ที่จะอยู่เคียงข้าง คอยร่วมยินดีในยามที่เรามีสุข และให้แต่สิ่งที่มีคุณ เมื่อถึงยามที่ทุกข์ มิตรแท้ไม่หนีห่างหาย แต่จะแสดงมิตรจิต ช่วยเหลือเกื้อกูลให้กำลังใจ หรือชี้แนะให้เห็นทางที่ถูกที่ควร สิ่งที่เรียบง่ายดังนี้คือคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ของผู้ที่เป็นมิตร 

     “มิตรภาพ หรือ ความเป็นมิตร ยังเป็นบ่อเกิดของสันติภาพในมวลหมู่มนุษยชาติทั้งหลาย ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า การอยู่ร่วมกันฉันมิตร ความมีจิตเมตตา เห็นอกเห็นใจไม่เบียดเบียนกัน ปรารถนาดีต่อกัน พึ่งพาอาศัยกันได้ในยามทุกข์ร้อน เป็นวิถีทางที่จะนำไปสู่โลกที่สงบร่มเย็น และงดงาม อันเป็นสิ่งที่อริยชนทุกคนปรารถนา

     “ข้าพเจ้าและผู้ได้รับรางวัลทุก ๆ ท่านหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เห็นความเป็นมิตรแผ่ไพศาลออกไปทั่วทุกอาณาเขตของโลกที่เราทุกคนอยู่และเป็นเจ้าของร่วมกัน ทั้งขอตั้งความปรารถนาให้ความสุขจงบังเกิดแก่มวลมนุษย์ทุกผู้ทุกนามในโลกนี้โดยทั่วกัน.”

     หลังจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวที่มาร่วมงาน และได้พระราชทานพรด้วยสองภาษาทั้งไทยและจีนว่า “ขอให้คนไทยและคนจีนศึกษาจากกันและกัน และให้มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน เป็นเพื่อนกัน” และตรัสต่อผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอว่า “ข้าพเจ้าหวังว่า คนไทยและคนจีนจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น”